กิจการของเรา ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
ไม่ว่าจะประกอบการในรูปแบบเจ้าของคนเดียว หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ จริงๆ แล้วเราก็ไม่สามารถเลือกได้ กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการ ที่ไม่เข้าข่ายกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ามีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปีจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งนั้น
กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
ทีนี้เรามาดูกันว่ากิจการอะไรบ้างที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
- การขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- การขายพืชผลทางการเกษตรภายในราชอาณาจักร เช่น ข้าว ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ เป็นต้น
- การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตภายในราชอาณาจักร เช่น โค กระบือ ไก่หรือเนื้อสัตว์ กุ้ง ปลา เป็นต้น
- การขายปุ๋ย
- การขายปลาป่น อาหารสัตว์
- การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์
- การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
ซึ่งผู้ประกอบกิจการตาม 1. ถึง 7. ดังกล่าว จะเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
- การนำเข้าสินค้าตาม 2. ถึง 7.
- การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
- การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ อย่างไรก็ดี หากเป็นการให้บริการขนส่งโดยอากาศยาน และการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้
- การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศทางบกและทางเรือซึ่งมิใช่เรือเดินทะเล
- การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลทางราชการและเอกชน
- การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
- การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
- การให้บริการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ
- การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ
- การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรม ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
- การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการตามที่กรมสรรพากรกำหนด คือ ต้องเป็นการวิจัยหรือบริการทางวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์และสาขาสังคมศาสตร์ แต่ต้องมิใช่เป็นการกระทำในทางธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือมูลนิธิ
- การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน
- การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
- การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้ หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม
- การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
- การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น
- การขายสินค้า หรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ
โดยผู้ประกอบการตาม 8-24 แม้ต้องการจะจดทะเบียนเพื่อเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่สามารถทำได้
จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดีหรือไม่
ทีนี้เราลองมาดูกันต่อ กรณีที่เราเป็นผู้ประกอบการตาม 1-7 ที่สามารถเลือกได้ว่าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เราจะตัดสินใจอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าของเราคือใคร ถ้าลูกค้าของเราเป็นนิติบุคคล การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้ต้นทุนของเราต่ำลง เนื่องจากเราสามารถขอคืนภาษีซื้อได้ แต่ถ้าลูกค้าของเราเป็นบุคคลธรรมดา การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้เรามีรายได้ที่ลดลงด้วย ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ กันดังนี้
ร้าน L ขายคอมพิวเตอร์ ซื้อคอมพิวเตอร์มาในราคา 1000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 70 บาท กรณีลูกค้าเป็นนิติบุคคล เราสามารถกำหนดราคาขาย ได้ 1800 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 126 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 126 บาทที่เราเก็บได้นี้ เราจะนำไปจ่ายให้รัฐบาลโดยหักภาษีซื้อ 70 บาทคืนมาก่อน คงเหลือภาษีที่นำส่งจำนวน 56 บาท (126 – 70) ต้นทุนของเราก็จะต่ำลงจาก 1070 บาทเหลือเพียง 1000 บาทเนื่องจากเราได้รับภาษีซื้อจำนวน 70 บาทคืน ดังนั้น เมื่อคำนวณกำไร เราจะได้กำไรจากการขายคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ 800 บาท (1800 – 1000)
ลองพิจารณาต่อกรณีลูกค้าเป็นบุคคลธรรมดา และเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เรากำหนดราคาขายเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ที่ 1800 บาทเราก็จะเก็บเงินจากลูกค้าได้เพียง 1800 บาทเน็ตไม่สามารถเก็บค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 126 บาทได้ เราต้องถือเสมือนว่าราคา 1800 บาทนี้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว ราคาขายเครื่องคอมพิวเตอร์จะเหลือเพียง 1682 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 118 บาท เช่นเดียวกันภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 118 บาทที่เราเก็บได้นี้ ต้องนำไปจ่ายให้รัฐบาลโดยหักภาษีซื้อจำนวน 70 บาทคืนมาก่อน คงเหลือภาษีที่จะต้องนำส่ง จำนวน 48 บาท แม้ว่าต้นทุนของเราจะต่ำลงเหลือ 1000 บาท ราคาขายของเราก็ต่ำลงเช่นเดียวกันเหลือเพียง 1682 บาท เมื่อคำนวณกำไรแล้ว ถ้าเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกำไรของเราจะเหลือเพียง 682 บาท
ในทางตรงกันข้าม ถ้ากรณีนี้เราไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เราจะไม่ได้รับภาษีซื้อจำนวน 70 บาทคืนต้นทุนของเราจะเท่ากับ 1070 บาท ขณะเดียวกันราคาขายของเราก็จะเท่ากับ 1800 บาท เมื่อคำนวณกำไรแล้วกรณีนี้กำไรของเราจะอยู่ที่ 730 บาท
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าเราเลือกได้ เราควรจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ต่อเมื่อ ลูกค้าของเราเป็นนิติบุคคลที่จะยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มเติมจากยอดขายที่กำหนดไว้เท่านั้น
(สาเหตุที่ลูกค้ายอมก็เพราะเขาเองจดทะเบียนอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เขาสามารถหากคืนภาษีซื้อที่เราเรียกเก็บออกจากภาษีขายของเค้าได้เช่นกัน) แต่ถ้ายอดขายของเราเกิน 1,800,000 บาทต่อปี แม้ว่าลูกค้าจะเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ยอมจ่ายมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมจากราคาขาย เราก็ไม่มีทางเลือกต้องจดทะเบียนเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้นนะค้า
อ้างอิง: มาตรา 77/3 กิจการที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เรียบเรียงโดย : www.aplthailand.com
Credit Picture : www.pixabay.com